วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เตรียมตัวก่อนเกษียณ

ที่มา:
www.moneyandbanking.co.th

การดำรงชีวิตที่ดีในวัยเกษียณ
เราสามารถแบ่งช่วงอายุในวัยเกษียณ โดยใช้ระยะเวลากับความสามารถในการใช้ชีวิตได้ 3 ช่วงวัย ที่ทำอย่างนี้ก็เพื่อความแม่นยำมากขึ้นในการประเมินกิจกรรมการใช้ชีวิตตามสุขภาพ และอายุขัยในแต่ละช่วง การแบ่งกลุ่มคนวัยเกษียณเราสามารถแบ่งช่วงอายุในวัยเกษียณ โดยใช้ระยะเวลากับความสามารถในการใช้ชีวิตได้ 3 ช่วงวัย ที่ทำอย่างนี้ก็เพื่อความแม่นยำมากขึ้นในการประเมินกิจกรรมการใช้ชีวิตตามสุขภาพ และอายุขัยในแต่ละช่วง เพราะคนอายุ 85 ปี ไม่น่าจะทำอะไรได้เหมือนคนอายุ 65 ปี ดังนั้น หากจะเหมารวมคนเกษียณตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปให้อยู่ในกลุ่มเดียวกันก็จะทำให้ประเมินและวางแผนได้ไม่รอบคอบ 
1.วัยห้าว (วัยเริ่มต้นเกษียณ 60-69 ปี)
คนในวันต้นๆ เกษียณ 60-69 ปี ส่วนใหญ่ยังสามารถทำอะไรได้มาก ยังคงมีพลังล้นเหลือพอที่จะทำสิ่งต่างๆ ได้เหมือนช่วงก่อนเกษียณ บางคนก็ไปทำสิ่งใหม่ที่อยากทำแต่ไม่มีโอกาสทำมาก่อน
ผู้ประกอบกิจการส่วนตัวหรือมีอาชีพอิสระ อาจจะมีความแตกต่างน้อยระหว่างการใช้ชีวิตก่อนกับหลังเกษียณ เพราะยังทำกิจการของตนไปได้เรื่อยๆ แม้จะลดเวลาทำงานลงบ้าง แต่การใช้ชีวิตของข้าราชการ ลูกจ้าง หรือพวกมนุษย์เงินเดือนจะเปลี่ยนแปลงมาก จากทำงานเต็มเวลา มาเป็นคนว่างงาน 100% หรือเหลือเพียงงานพิเศษชั่วครั้งชั่วคราว
ก่อนตัดสินใจจะทำอะไรในวัยนี้ควรประเมินความพร้อมของตนเองให้ดี โดยเฉพาะด้านการเงิน สังขาร ประสบการณ์ต่อสิ่งใหม่ กับการใช้ชีวิตที่เหมาะสม เพราะเป็นวัยนี้เป็นวัยที่ยังฮึกเหิม อยากทำสิ่งใหม่ๆ ที่ใฝ่ฝัน โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้าง ข้าราชการ ที่มีเงินเก็บเงินออม ที่หลายคนอยากเริ่มต้นอาชีพใหม่ที่เป็นนายตนเองบ้าง หลังจากเป็นขี้ข้าเขามาชั่วชีวิตแล้ว บางคนก็ไปลงทุนทำสวน โดยอาจลืมศึกษาความเป็นไปได้ ความสามารถ กำลังกาย ประสบการณ์ และความลงตัวกับตนเอง จนเกิดผลเสียหายด้านการเงินในที่สุด
อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ มีวัยห้าวหลายคนที่ยังสามารถใช้ความรู้ที่สั่งสมมานานไปรับงานที่ปรึกษา ทำกิจการต่อเนื่อง ก่อนส่งต่อให้ลูกหลาน สำหรับข้าราชการ ลูกจ้างที่เกษียณจากการทำงานเต็มเวลา อาจใช้เวลาในช่วงชีวิตนี้สั่งสมการเงินเพิ่มเติมจากการหารายได้พิเศษ หรือทำงานการกุศล หรือทำในสิ่งที่ตนเองต้องการทำแต่ยังไม่ได้ทำ เช่น ท่องเที่ยวไปยังที่ต่างๆ การเข้าไปช่วยงานมูลนิธิการกุศล กิจกรรมต่างๆ หรือช่วยเหลือเลี้ยงดูลูกหลาน รวมถึงการดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย เปิดร้านอาหาร ขายของผ่านไซเบอร์ สิ่งเหล่านี้หากลงตัว จะทำให้วัยห้าวพึงพอใจในชีวิตเกษียณ สามารถหารายได้เพิ่ม และรู้สึกว่าตนเองยังมีค่าต่อสังคม

2.วัยหด (วัยเกษียณจริง 70-79 ปี)
ในวัยหด สังขารเราเองจะทำให้ความสามารถในการหารายได้ลดลงจนเกือบหมด รวมไปถึงค่าใช้จ่ายสันทนาการด้วยที่จะลดลง เพราะเริ่มไม่เอ็นจอยกับการแสวงหา แต่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะเพิ่มขึ้นตามปัญหาสุขภาพที่มากขึ้น โรคภัยที่มีอยู่จะแสดงอาการชัดเจนขึ้น และความสามารถในการใช้ชีวิตจะลดลง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ลูกจ้างเกษียณ อาชีพอิสระ หรือเจ้าของกิจการ ต่างจะไม่มีความแตกต่างด้านการใช้ชีวิตในวัยหดสักเท่าไหร่
การทำกิจกรรมในช่วงวัยนี้จึงควรลดระดับลง และไปให้ความสำคัญกับสุขภาพกาย-ใจให้มากขึ้น ควบคุมการบริโภค เน้นการรักษาสุขภาพ ช่วยเหลือตนเองในกิจกรรมต่างๆ ตามความสามารถ แต่อย่ารั้นเพราะมั่นใจในศักยภาพสังขารของตนจนเกินจริง เพราะจะทำให้เกิดปัญหาก่อนวัยอันควร ทางที่ดี ให้หากิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น ใช้ชีวิตกับสังคมเพื่อนในหมู่บ้าน ในคอนโดฯ ในวัด หรืออยู่กับหลานเหลนรุ่นเล็กๆ เพื่อคลายเหงา เป็นต้น

3.วัยเหี่ยว (ช่วงเตรียมกลับบ้าน 80 ปีขึ้นไป)
คนอายุ 80 ปีขึ้นไป ถือว่าอยู่ในช่วงชราภาพ เรียกว่าก้าวเดินต่อไปก็คือ กลับบ้านเก่า แต่กว่าจะถึงวันนั้นบางทีก็แสนจะยาวนาน เวลาของคนในช่วงนี้มีเหลือเฟือที่สุดจนถึงวาระสุดท้าย บางคนก็อายุเกินร้อยปี เป็นวัยพักผ่อนจริง ซึ่งปัญหาสุขภาพจะแสดงออกอย่างชัดเจน การจดจำต่างๆ ลดลงอย่างเด่นชัด จะทำอะไรหลายคนก็ต้องอาศัยผู้อื่นช่วยเหลือเป็นส่วนใหญ่คนวัยเหี่ยวจะกินน้อยลง มีความอยากน้อยลง การใช้จ่ายด้านการเงินจะลงไปในเรื่องสุขภาพเกือบทั้งหมด สำหรับผู้ชราภาพมากๆ ก็จำเป็นต้องมีผู้คอยดูแล ซึ่งหากมีครอบครัวลูกหลานช่วยเหลือก็จะลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก การเตรียมพร้อมด้านการเงินช่วงสุดท้ายนี้จึงจะต้องเตรียมไว้สำหรับเรื่องสุขภาพเป็นหลัก
จะวางแผนการเงินหลังเกษียณ ต้องตอบคำถาม 3 ข้อ 1.ทำอย่างไรกับหนี้สินก้อนใหญ่ที่ยังคงเหลืออยู่ 2.ทำอย่างไรให้เงินออมที่มี ยังคงงอกเงย ให้ผลตอบแทนโดยไม่ต้องไปลงทุนในสิ่งที่เสี่ยงจนเกินไป3.ทำอย่างไรให้เงินที่มี เพียงพอต่อการใช้ไปจนตาย เป็นเรื่องจริงที่สุดเลย ที่คนพูดบ่อยๆ ว่า “มันเป็นเรื่องน่าเศร้าถ้าเราตายก่อนใช้เงินหมด แต่จะเป็นเรื่องสุดสลด ถ้าใช้เงินหมดแล้วยังไม่ตาย” ถ้าตายไปแล้วใช้เงินไม่หมดก็ถือว่าเป็นโชคของคนข้างหลัง แต่ถ้าใช้เงินหมดแล้วยังไม่ตายนี่สิ จะทำยังไงดี มีคนเคยตอบว่า “ไม่ต้องไปห่วงหรอก ถ้าไม่มีเงิน อีกไม่นานก็จะตายไปเองตามธรรมชาติ”  แต่ในเมื่อบ้านเมืองยังปฏิรูปกันอยู่ อย่าเพิ่งตายไปก่อนจะเห็นผลเลย มาวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณดีกว่าจะปล่อยไปวันๆ
ข้อคิดสำหรับการเงินวัยเกษียณ
1.ให้ความสำคัญกับกระแสเงินสดรับที่หดหาย และให้วางแผนใช้จ่ายจากเงินสดที่ยังได้รับรายเดือน (จากดอกเบี้ย ปันผล รายได้ที่ยังมีเข้ามาบ้าง) ให้ได้มากที่สุด ก่อนจะไปใช้เงินก้อน
2.คนวัยเกษียณจะว่างและมีเงินก้อนในมือ จึงมักจะอยากใช้จ่ายเพื่อให้รางวัลชีวิต ต้องประมาณให้ดีก่อนใช้ ไม่เช่นนั้นเงินอาจหมดก่อนจะตายได้ ต้องระวังให้ดี เพราะเวลาที่เหลือเฟือกับเงินก้อนใหญ่ในมือ อะไรก็เกิดขึ้นได้
3.ตรวจสอบสวัสดิการด้านสุขภาพของตัวเองว่ามีอะไรอยู่บ้าง สิทธิข้าราชการ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันสังคม บัตรทอง ฯลฯ เพราะจะเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุด ห้ามละเลย ต้องรู้ว่าจะเบิกจากอะไร ที่ไหน อย่างไร ได้บ้าง
4.ตรวจสอบหนี้สินที่คงเหลือ วางแผนหาวิธีจัดการให้เร็วที่สุด เพราะดอกเบี้ยมีแต่พอกพูน
5.คำนวณให้มั่นใจว่าเงินที่มีอยู่และจะได้รับระหว่างเกษียณ เช่น บำนาญ เงินคืนจากประกันแบบบำนาญ กองทุนบำนาญจากประกันสังคม เบี้ยยังชีพคนชรา มีอะไรบ้าง จะเพียงพอใช้หรือไม่ตรวจแล้ว ไม่พอใช้ รีบๆ ตายไปเลยดีไหม อย่าเพิ่งรีบตายไปเลย มาดูทางแก้ไขกันก่อน ปัญหาสถานเบาคือ เงินพอใช้ แค่พอดีๆ ไม่เหลือ

ให้หาวิธีลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น ในความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่นขยับจากฝากธนาคารไปกองทุนตราสารหนี้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนผสมที่เน้นตราสารหนี้
o  คนเกษียณแล้วรายได้มักไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี การบริหารภาษีส่วนนี้ก็จะช่วยให้มีเงินกลับคืนเยอะขึ้น เช่น ขอคืนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเงินปันผล ฝากประจำ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ ฯลฯปัญหาสถานหนักคือ คำนวณเท่าไหร่ก็ยังขาดเงินอีกมาก
o  หาทางลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าที่พักอาศัย ค่าใช้จ่าย โดยขายบ้าน ที่ดิน เอาเงินก้อนไปลงทุนให้เหมาะสมกับตนเอง แล้วย้ายไปอยู่ร่วมกันกับญาติ ลูกหลาน หรือเพื่อนฝูงที่รักใคร่ ถูกใจกัน
o  สำรวจทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นและแปลงเป็นเงิน เช่น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องประดับ พระเครื่อง นาฬิกา ตุ๊กตาบาร์บี้ ฯลฯ
o  หารายได้เสริม เพราะผู้เกษียณจำนวนมากในวัยห้าวยังมีความสามารถหารายได้ ก็ให้ทำงานเพื่อเพิ่มเงินสะสม เช่น ทำขนม อาหาร เป็นที่ปรึกษา เป็นกรรมการ บริษัทต่างๆ เป็นที่ปรึกษาการเงินการลงทุนฯลฯ

สิ่งที่ต้องระมัดระวัง 
1.การจ่ายเงินก้อนให้ลูกหลาน หรือ เพื่อนฝูง เช่น เพื่อนขอยืม ซื้อรถให้ลูกหลาน ต้องมั่นใจว่าไม่กระทบต่อเงินออมเพื่อดำรงชีพหลังเกษียณของเรา
2.การสร้างอาชีพใหม่ที่ต้องลงทุนสูงตามความฝัน เช่น ไปทำสวน ทำไร่ ซื้อที่ลงทุนปลูกบ้านในต่างจังหวัด แต่ลืมไปว่าตนเองไม่มีประสบการณ์ อาจขาดทุนและกระทบเงินออมสำหรับวัยเกษียณได้
3.การต้มตุ๋น หลอกลวง เวลามีคนเข้ามาเยินยอความสำเร็จในอดีตแต่จ้องตาเป็นมันไปที่กระเป๋าเงินของเรา ทำให้หลงเชื่อ โดยเฉพาะเมื่อไม่มีลูกหลานหรือลูกหลานไม่ได้อยู่ใกล้ชิด
การลงทุน การลงทุนสำหรับวัยเกษียณ ควรเน้นการได้รับผลตอบแทนแบบสม่ำเสมอจากการลงทุนเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่าย ลดการดึงเงินต้นออกมาใช้ให้มากที่สุด เช่น เงินฝากธนาคาร ซื้อตราสารหนี้ต่างๆ เช่นหุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล กองทุนตราสารหนี้ที่จ่ายเงินคืนระหว่างการลงทุน กองทุนหุ้นที่จ่ายปันผล กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จ่ายปันผลสม่ำเสมอ เป็นต้น หากมีจำนวนเงินมากพอจะรับความเสี่ยงเพิ่มบ้างเพื่อโอกาสในการรับผลตอบแทนที่ดีกว่าก็ให้ลงทุนส่วนหนึ่งในหุ้น แต่เมื่อใดที่การลงทุนเอง และการทยอยขายเพื่อรับเงินมาใช้จ่ายรายเดือน เป็นปัญหายุ่งยากของผู้สูงวัย กองทุนบัวหลวง ก็มี กองทุน B Senior ที่มีนโยบายลงทุนในเงินฝาก พันธบัตร และตราสารหนี้ไม่ต่ำกว่า 70% เพื่อเน้นความมั่นคง กับที่เหลืออีกไม่เกิน 30% เขาจะนำไปลงทุนในหุ้น + ทองคำ + กองทุนที่อสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ในจังหวะที่เหทาะสมเพื่อหาโอกาสเพิ่มผลตอบแทนให้กองทุน ที่สำคัญคือ กองทุน B Senior มีบริการให้เลือกขายคืนเป็นประจำเพื่อนำเงินไปใช้จ่ายรายเดือนอีกด้วย ทำให้ผู้เกษียณแล้วมีความสะดวกสบายขึ้นมาก นอกจากการจัดชีวิตในวัยเกษียณทั้ง 3 ช่วงให้แหมาะสมกับเราเองแล้ว ต้องไม่มองข้ามความคุ้มครองสำหรับวัยเกษียณอายุ ซึ่งได้แก่ ประกันสุขภาพต่างๆ กับประกันภัยโรคร้ายแรง เพราะวัยอย่างนี้มีโอกาสได้เงินจากประกันมาใช้มากกว่าวัยอื่น

สุดท้าย…อย่าลืมเรื่องพินัยกรรม 






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น